อีเมลถือเป็นช่องทางที่ดีช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารโดยตรงกับผู้ชมของคุณ จากงานสำรวจของ Litmus การตลาดผ่านอีเมลมี ROI เฉลี่ยอยู่ที่ 38:1 ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้คนจะได้รับอีเมลเป็นจำนวนมากในอินบ็อกซ์ทุกวัน จริง ๆ แล้วตอนนี้อินบ็อกซ์ของคุณก็อาจจะเต็มแล้วก็เป็นได้
โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ ทาง Radicati Group พบว่าโดยเฉลี่ยพนักงานออฟฟิศได้รับอีเมลถึง 121 ฉบับต่อวัน
คำถามคือ คุณจะทำให้คนสนใจอีเมลของคุณได้อย่างไร? บทความนี้จะมากล่าวถึงหนึ่งในวิธีการทำให้อีเมลของคุณโดดเด่นและน่าสนใจ นั่นคือการปรับปรุงหัวเรื่องอีเมลของคุณ
ทำไมถึงต้องโฟกัสไปที่หัวเรื่อง?
เมื่อพูดถึงการตลาดผ่านอีเมล หัวเรื่องของคุณถือเป็นโอกาสในการสร้างความประทับใจครั้งแรก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เพราะหัวเรื่องอีเมลที่มีประสิทธิภาพสามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าเป้าหมายของคุณได้
หัวเรื่องอีเมลมีความโดดเด่นทางสายตาเช่นกัน มันคือองค์ประกอบที่โดดเด่นเป็นอันดับสองในอินบ็อกซ์รองจากชื่อผู้ส่ง เพราะมันเป็นอักษรตัวหนาและสีเข้มเมื่อเทียบกับเนื้อหาของอีเมล
ดังนั้นหัวเรื่องอีเมลของคุณจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้ชมของคุณตัดสินใจว่าพวกเขาจะเปิดอีเมลของคุณอ่านหรือไม่ ตามสถิติของ Invesp พบว่า 47% ของผู้รับอีเมลเปิดอีเมลโดยการพิจารณาจากหัวเรื่อง
นอกจากนี้การเลือกใช้คำผิดอาจทำให้แบรนด์ของคุณเสียหายและส่งอีเมลของคุณไปที่โฟลเดอร์สแปมหรือกล่องจดหมายขยะได้ จากแหล่งข้อมูลเดียวกันยังระบุอีกด้วยว่า 69% ของผู้รับแจ้งว่าอีเมลเป็นสแปมหรือจดหมายขยะโดยพิจารณาจากหัวเรื่องอย่างเดียว
ยิ่งอีเมลของคุณถูกแจ้งว่าเป็นสแปมมากเท่าไร อีเมลในอนาคตของคุณก็จะยิ่งส่งไปถึงผู้ชมได้น้อยลงเท่านั้น ซึ่งมันสามารถส่งผลเชิงลบต่อ ROI ของคุณได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อส่งอีเมลการขาย คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าหัวเรื่องของคุณไม่ได้ขัดขวางความพยายามในการทำการตลาดของคุณอยู่
7 ข้อผิดพลาดพบบ่อยที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเขียนหัวเรื่องอีเมล
ทุกวันนี้เราได้รับอีเมลจากบริษัทห้างร้านต่าง ๆ มากมาย เป็นที่น่าประหลาดใจที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยการมีส่วนร่วมของลูกค้ามากนัก
คุณจะเห็นว่าหัวเรื่องอีเมลเป็นเหมือนโอกาสที่คุณจะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ซึ่งตำนานด้านโฆษณาอย่าง David Ogilvy ได้ให้ความสำคัญกับหัวเรื่องอย่างมาก
ตำนานผู้นี้ได้กล่าวไว้ว่า หลังจากที่คุณเขียนหัวเรื่องเรียบร้อย คุณได้ทำไป 80% ของงานทั้งหมดแล้ว ซึ่งมันหมายความว่าหัวเรื่องของคุณที่เขียนไปทำหน้าที่ถึง 80% ในการดึงดูดผู้คน
เช่นเดียวกับการตลาดผ่านอีเมล สิ่งนี้สามารถนำมาปรับใช้กับหัวเรื่องอีเมลของคุณได้
ต่อไปนี้เป็นข้อผิดพลาด 7 ประการที่คุณควรหลีกเลี่ยงเมื่อเขียนหัวเรื่องอีเมลในครั้งถัดไป
ข้อผิดพลาด #1: ใช้วิธีหลอกล่อผู้ชม
เมื่อการแข่งขันเพื่อดึงดูดความสนใจในอินบ็อกซ์ได้เพิ่มขึ้น หลายบริษัทต่างใช้ทริกและเทคนิกเพื่อดึงความสนใจของผู้รับ หนึ่งในนั้นคือการใช้หัวเรื่องอีเมลเพื่อหลอกล่อให้ผู้ชมเปิดอีเมลของตน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมถึงต้องใช้วิธีนี้เพิ่อดึงดูดความสนใจของผู้รับจากอีเมลมากมาย แต่การใช้วิธีหลอกล่อนั้นคือคำตอบจริง ๆ หรือ?
มันไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอน จริง ๆ แล้วมันจะเป็นการทำร้ายแบรนด์ของคุณเองเสียด้วยซ้ำหากใช้หัวเรื่องอีเมลหลอกล่อ มันอาจจะทำให้อีเมลของคุณถูกลบหรือถูกส่งไปในสแปมแทน นอกจากนี้มันยังจะทำให้ผู้ชมเชื่อว่าคุณไม่น่าไว้วางใจอีกด้วย
หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออก ยกตัวอย่างว่าคุณมีร้านค้าออนไลน์อยู่และส่งอีเมลออกไปด้วยหัวเรื่องอีเมลว่า “ใช้ Code ส่วนลดนี้แล้วลดไปเลย 30% ทุกอย่าง” แต่ในอีเมลของคุณเปิดเผยว่ามันใช้ได้กับผลิตภัณฑ์บางอย่างเท่านั้น คุณไม่คิดว่าผู้ชมของคุณจะผิดหวังและรู้สึกเหมือนถูกหลอกหรือเปล่า?
บอกได้เลยว่าไม่มีใครชอบที่จะถูกหลอก จริงไหม? หากสมาชิกรับอีเมลของคุณสูญเสียความไว้วางใจในอีเมลของคุณ บอกได้เลยว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยต่ออีเมลในอนาคตของคุณและอาจทำเครื่องหมายสแปมไว้กับอีเมลของคุณอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้มีอัตราการเปิดอีเมลลดลงและมีอัตราอีเมลเป็นสแปมเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้
อีกหนึ่งวิธีที่ใช้กันคือการใช้ RE: หรือ FW: ในหัวเรื่องอีเมล มันสื่อชัดเจนอยู่แล้วว่าสิ่งนี้ต้องการให้ผู้อ่านคิดว่าอีเมลนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาที่ค้างอยู่หรือรอตอบกลับ นี่เป็นอีกหนึ่งวิธีการหลอกล่อที่จะทำร้ายแบรนด์ของคุณเอง
ถามว่าจุดประสงค์คือการให้ผู้รับเปิดอีเมลไม่ใช่หรือ? คำตอบคือใช่ แต่จะรับได้กับผลตอบรับหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่ต้องพิจารณา
หัวเรื่องอีเมลของคุณควรสื่ออย่างชัดเจนหรือบอกเป็นนัยว่าผู้อ่านคาดหวังอะไรได้จากอีเมลของคุณ คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเนื้อหาของอีเมลและหัวเรื่องของคุณสอดคล้องกัน สิ่งนี้จะสร้างความไว้วางใจและพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณและสมาชิกรับอีเมลของคุณได้
ข้อผิดพลาด #2: ยาวมากเกินไปหรือสั้นเกินไป
หากหัวเรื่องอีเมลยาวมากเกินไป ผู้ชมของคุณอาจรู้สึกไม่อยากอ่านหรือบางทีพวกเขาอาจคิดว่าเป็นอีเมลสแปมเลยก็เป็นได้
ยิ่งไปกว่านั้นหัวเรื่องที่ยาวส่วนใหญ่มักจะถูกอินบ็อกซ์ตัดส่วนท้ายออกซึ่งทำให้หัวเรื่องไม่จบดี และสิ่งนี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากสมัยนี้เราใช้มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารหลัก
ในทางกลับกัน หัวเรื่องอีเมลที่สั้นเกินไปอาจทำให้อ่านไม่รู้เรื่องหรือไม่รู้ว่าสื่ออะไร คุณเคยเห็นหัวเรื่องอีเมลที่มีอยู่คำสองคำไหม? คุณคิดว่ามันดูน่าสงสัยไหม? มันยังอาจสื่อให้รู้ถึงความไม่เป็นมืออาชีพของผู้ส่งและอาจดูเป็นจดหมายขยะอีกด้วย
หัวเรื่องอีเมลที่ดีควรสร้างความสมดุลระหว่างความกระชับและการสื่อตรงประเด็น และยังต้องเป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับผู้ชมของคุณด้วย จากข้อมูลศึกษาของ Backlinko หัวเรื่องอีเมลที่มีจำนวนตัวอักษรระหว่าง 36-50 ตัวอักษรจะได้รับอัตราการตอบรับที่ดีที่สุด พวกเขาวิเคราะห์อีเมลที่ส่งออกไปถึง 12 ล้านฉบับและพบว่าในความยาวประมาณนี้คุณสามารถอธิบายเนื้อหาของข้อความได้ดีที่สุด
ข้อผิดพลาด #3: สะกดผิดและผิดไวยากรณ์
ทุกวันนี้อีเมลจำนวนมากที่ได้รับยังมีการสะกดผิดและผิดไวยากรณ์กันอยู่ เหมือนทำส่ง ๆ ออกมาจนอยากจะตอบกลับไปว่าได้อ่านก่อนส่งออกมากันบ้างหรือเปล่า
ดังนั้นคำแนะนำง่าย ๆ คือควรอ่านตรวจทานก่อนส่งอีเมลออกไปหาผู้ชมที่ลงทะเบียนรับข่าวสารไว้ มันดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ จนอาจทำให้ถูกมองข้ามได้ แต่มันมีความสำคัญระดับหนึ่งเลยทีเดียว มันสามารถสร้างความประทับใจกับผู้อ่านและดูเป็นมืออาชีพด้วย
คุณอาจใช้วิธีง่าย ๆ อย่างเครื่องมือตรวจสอบไวยากรณ์เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่ตั้งใจเขียนไว้ และมันไม่ได้ใช้เวลามากเสียด้วยซ้ำ
นอกจากหัวเรื่องอีเมลแล้ว คุณควรตรวจทาน Copy ในอีเมลของคุณ อย่างเรื่องการเว้นวรรคและการสะกดผิด มันสามารถส่งผลไปถึงอัตราการเปิดอีเมลของคุณเช่นกัน
อย่าลืมว่าอีเมลเป็นโอกาสที่คุณจะทำให้บริษัทของคุณเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ การสะกดผิดและผิดไวยากรณ์จะทำให้เกิดความประทับใจที่ไม่ดีและบั่นทอนโอกาสในการสร้างความไว้วางใจได้ ผู้ชมของคุณอาจคิดไปว่าในเมื่อคุณยังเขียนอีเมลให้ดียังไม่ได้ นับประสาอะไรกับสิ่งที่เขียนข้างในอีเมล จริงไหม?
ข้อผิดพลาด #4: ใส่คำที่เป็นสแปมและอักษรพิเศษ
คุณอาจไม่รู้ว่าคำบางคำถูกตั้งไว้ในตัวกรองอินบ็อกซ์ของผู้รับในหลาย ๆ คน ซึ่งตัวกรองนั้นจะส่งอีเมลที่มีคำคำนั้นไปยังโฟลเดอร์จดหมายขยะ ถึงแม้ว่าข้อความของคุณจะดีมากสักแค่ไหน แต่อีเมลของคุณอาจกลายเป็นอีเมลขยะได้ทันที ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของคุณจะมีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่จะเปิดอ่านอีเมลขยะ
ยิ่งไปกว่านั้นคุณต้องการให้ผู้ชมรับข่าวสารของคุณรับรู้ว่าอีเมลของคุณน่าเชื่อถือและจริงจัง แม้ว่าอีเมลของคุณจะส่งไปถึงอินบ็อกซ์ของพวกเขา แต่คำบางคำก็ยังดูเป็นสแปมสำหรับผู้อ่านของคุณได้ และพวกเขามักจะเพิกเฉยต่ออีเมลเหล่านั้น ดังนั้นคุณควรเลือกคำในหัวเรื่องอีเมลของคุณอย่างรอบคอบ
คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้สัญลักษณ์และตัวอักษรพิเศษบางตัวมากเกินไปด้วยเหตุผลเดียวกัน แนะนำว่าตัวอักษรอย่าง $ # @ & และอื่น ๆ ควรใช้ในอีเมลแทนที่จะเป็นหัวเรื่อง แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ในหัวเรื่องจริง ๆ คุณควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การใช้บ่อยเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาในการส่งอีเมลและเป็นอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้ส่ง ดังนั้นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคือคุณต้องหลีกเลี่ยงคำและสัญลักษณ์ดังกล่าว คุณอาจนึกไม่ออกว่าคำที่มักถูกตีว่าเป็นสแปมมีอะไรบ้าง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำและวลีสแปมที่คุณควรหลีกเลี่ยง: ฟรี 100% ถูกมาก ๆ ทำเงินมากมาย ได้เงินฟรี และอื่น ๆ อีกมากมาย
ในคำสแปมทั้งหมดนี้คุณจะเห็นคำที่น่าสนใจอย่างคำว่า “ฟรี” หลายคนสงสัยว่าจริงหรือเปล่า โดยทั่วไปแล้วมันสามารถใช้ได้และมันสามารถเพิ่มอัตราการเปิดอีเมลของคุณได้หากส่งถึงอินบ็อกซ์ของผู้รับ อย่างไรก็ตามการใช้คำนี้มากเกินไปหรือรวมเข้ากับวลีบางอย่างอาจทำให้อีเมลของคุณถูกส่งไปยังโฟลเดอร์จดหมายขยะได้เช่นกัน
ดังนั้นแนะนำว่าให้ใช้คำนี้ในหัวเรื่องอีเมลของคุณอย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็น
ข้อผิดพลาด #5: ตะโกนใส่สมาชิกรับข่าวสารอีเมลของคุณ
ถ้าคุณต้องรับส่งอีเมลเป็นภาษาอังกฤษ คุณเคยเห็นหัวเรื่องอีเมลที่ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่เพื่อดึงดูดความสนใจหรือเปล่า? นั่นคือสิ่งที่คุณต้องหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งหากคุณต้องการให้ผู้รับเปิดอีเมลของคุณ
คุณสงสัยไหมว่าเพราะอะไร?
เพราะมันเป็นเหมือนการตะโกนใส่ผู้รับอีเมลของคุณและคุณไม่ต้องการทำแบบนี้ใส่สมาชิกรับอีเมลของคุณเพื่อดึงดูดความสนใจพวกเขา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่คุณกำลังทำหากคุณใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดในหัวเรื่องอีเมลของคุณ
คุณต้องการให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ดี ๆ จากคุณ ซึ่งการใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดนั้นอาจตีความผิดได้ง่าย ๆ ว่าเป็นการหยาบคายต่อพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งนี้มักจะถูกตัวกรองสแปมดักไว้อีกด้วย
ในทำนองเดียวกันการใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการตอบสนองเชิงลบต่ออีเมลของคุณเช่นกัน มันยังทำให้หัวเรื่องอีเมลอ่านยากโดยเฉพาะบนอุปกรณ์มือถืออีกด้วย
อย่างไรก็ตามหากคุณใช้มันเท่าที่จำเป็น คุณจะเห็นอัตราการเปิดอีเมลที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย จากงานศึกษาของ Smart Insights พบว่าการใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์เพียงเล็กน้อยสามารถช่วยเพิ่มอัตราการเปิดอีเมลได้ 10% – 20% พวกเขาจึงแนะนำให้ใช้เป็นครั้งคราวและเฉพาะกรณีพิเศษเท่านั้นอย่างเช่นงานลดราคาพิเศษ
ดังนั้นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคือให้ใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์เพียงตัวเดียวในหัวเรื่องอีเมลหากมีความจำเป็น
ข้อผิดพลาด #6: ไม่ใช้หรือใช้ Emoji มากเกินไป
หากคุณไม่ได้ใช้ Emoji คุณกำลังพลาดโอกาสบางอย่างอยู่ Mobile Marketer รายงานเกี่ยวกับการศึกษาที่แสดงให้เห็นอัตราการเปิดอีเมลที่สูงขึ้นถึง 66% และ Media Post ได้เผยอีกว่า Emoji ในหัวเรื่องอีเมลสามารถช่วยเพิ่มอัตราการเปิดอีเมลมากขึ้น 15%
นอกจากนี้งานวิจัยของ Econsultancy พบว่า Emoji ยังสามารถเพิ่มอัตราการเปิดอีเมล 60% ของทั้งหมด แต่ 40% ที่เหลือพบว่า Emoji มีบทบาทเชิงลบหรือไม่มีบทบาทเลยแทน ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้อาจดูสับสน
ดังนั้นคุณต้องถามคำถามตัวเองก่อนที่จะใช้ Emoji ในหัวเรื่องอีเมลของคุณก่อน ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับแบรนด์และผู้ชมของคุณ
โดยคุณต้องพิจารณา 3 สิ่งต่อไปนี้:
- ผู้ชมของคุณจะตอบสนองต่อ Emoji ได้ดีหรือไม่? คุณต้องพิจารณาข้อมูลของผู้ชมของคุณก่อนตอบคำถามนี้ หากอีเมลของคุณถูกส่งไปยังผู้ชมที่มีอายุน้อย พวกเขามีแนวโน้มที่จะเปิดรับ Emoji มากกว่า
- คุณส่งอีเมลไปแบบ B2B หรือ B2C? เนื่องจากผู้ชมแบบ B2C มักจะตอบสนองต่อ Emoji ได้ดีกว่าแบบ B2B
- การใช้ Emoji สอดคล้องกับแบรนด์ของคุณหรือเปล่า? ในที่นี้จะหมายถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณนั้นสำหรับผู้ชมที่มีอายุ การใช้ Emoji อาจทำให้ขาดการเชื่อมต่อระหว่างผู้ชมกับแบรนด์ของคุณได้
จากที่กล่าวมา คุณไม่ควรยัด Emoji เข้าไปในหัวเรื่องอีเมลมากเกินไป หากคุณใช้บ่อย ๆ มันอาจจะทำให้อีเมลของคุณดูไม่เป็นมืออาชีพ แนะนำให้ใช้ Emoji ที่เกี่ยวข้องตามเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อ สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณทำได้คือการทำ A/B Testing ของ Emoji ที่ต้องการใช้กับผู้ชมของคุณเพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
นอกจากนี้อย่าลืมว่า Emoji จะแสดงผลต่างกันในแต่ละอุปกรณ์ คุณคงไม่ต้องการให้ผู้รับอีเมลของคุณได้รับตัวอักษรแปลก ๆ แทนที่จะเป็น Emoji ที่คุณต้องการจะสื่อ จริงไหม? ดังนั้นคุณควรทดสอบการแสดงผล Emoji ในหัวเรื่องอีเมลของคุณในแต่ละแพลตฟอร์มก่อนส่งอีเมลออกไป
ข้อผิดพลาด #7: ใช้หัวเรื่องอีเมลแบบสร้างอัตโนมัติ พบเจอบ่อย และน่าเบื่อ
ไม่มีใครที่ต้องการที่จะถูกมองว่าไม่สำคัญ จริงไหม? โดยเฉพาะลูกค้า พวกเขาต้องการได้รับการปฏิบัติเหมือนบุคคลสำคัญ ดังนั้นหากคุณใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนหัวเรื่องและเนื้อหาให้เหมาะกับลูกค้าของคุณ พวกเขาจะตอบสนองต่ออีเมลได้ดีกว่า
สมาชิกรับข่าวสารอีเมลของคุณต้องการที่จะรู้สึกพิเศษและเหมือนถูกพูดคุยด้วยโดยตรง ซึ่งเมื่อคุณทำเช่นนั้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะตอบสนองในเชิงบวก
หากคุณยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนการตลาดทางอีเมลของคุณให้เป็นแบบส่วนบุคคล แสดงว่าคุณกำลังพลาดโอกาสอันเหลือเชื่อในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาวแล้วล่ะ ในการทำกลยุทธ์นี้ให้มีประสิทธิภาพ คุณจะต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชมของคุณ
ตัวอย่างเช่น คุณอาจใส่ชื่อสมาชิกรับข่าวสารอีเมลของคุณไว้ในหัวเรื่องอีเมล คุณเคยใช้วิธีนี้หรือยัง? ถ้ายัง แนะนำให้ลอง วิธีนี้สามารถเพิ่มอัตราการเปิดอีเมลของคุณได้
อย่างไรก็ตามคุณต้องไม่ทำมันบ่อยเกินไป ถ้าทุก ๆ หัวเรื่องอีเมลมีชื่อสมาชิกรับข่าวสารอยู่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะเริ่มไม่สนใจอีเมลของคุณ เพราะมันดูไม่พิเศษอีกต่อไป
แต่การปรับเปลี่ยนแบบส่วนบุคคลนั้นมีมากกว่าการเอ่ยชื่อสมาชิกรับข่าวสารอีเมลของคุณ มันรวมถึงการนำเสนอเนื้อหาที่ถูกปรับแต่งและมีความเกี่ยวข้องกันซึ่งถูกกำหนดเป้าหมายไปยังสมาชิกแต่ละคน ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่าคุณจะต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของคุณ ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งมอบคุณค่าที่ทำมาเป็นส่วนบุคคลจริง ๆ
หัวเรื่องที่ถูกกำหนดเป้าหมายและสร้างขึ้นเพื่อให้โดนใจผู้ชมเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่ดีในการปรับเปลี่ยนแบบส่วนบุคคล ซึ่งมันจะทำให้อัตราการเปิดอีเมลและการคลิก CTA ในอีเมลเพิ่มขึ้น
ก่อนที่จะเขียนหัวเรื่องอีเมล
เมื่อคุณทำแคมเปญการขาย มีบางสิ่งที่คุณควรพิจารณาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หลังจากที่คุณเข้าใจสิ่งดังกล่าวแล้ว การเขียนหัวเรื่องอีเมลจะง่ายขึ้นทันที
โดยคุณสามารถใช้คำแนะนำเหล่านี้เพื่อช่วยให้คุณเขียนหัวเรื่องอีเมลให้ดีขึ้น:
คุณค่าที่จะได้รับจากข้อเสนอของคุณ: มันไม่ใช่แค่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คุณเสนอให้ ให้คุณลองคิดดูว่าจะทำให้ชีวิตของลูกค้าของคุณดีขึ้นได้อย่างไร
ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย: ทำไมพวกเขาถึงต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ? ให้คุณลองคิดในมุมของของพวกเขาและคิดถึงความต้องการของพวกเขา
ความสัมพันธ์ของคุณกับกลุ่มเป้าหมาย: พวกเขาได้รับอีเมลของคุณครั้งแรกหรือเป็นลูกค้ามานานแล้ว?
พวกเขาจะได้อะไรบ้าง?: ทำไมพวกเขาควรคิดว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณน่าสนใจ? ทำไมพวกเขาควรที่จะอ่านอีเมลของคุณ?
ผู้อ่านส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการดูรายการอีเมลที่พวกเขามี หากตรงช่องหัวเรื่องไม่ดึงดูดความสนใจพวกเขามากพอ พวกเขาก็ไม่สนใจที่จะอ่าน มันไม่สำคัญว่าเนื้อหาหลักของอีเมลของคุณจะมีข้อมูลที่มีค่าและเป็นประโยชน์มากสักแค่ไหน
ดังนั้นหัวเรื่องของคุณอาจเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของอีเมลการขายของคุณ มันเป็นโอกาสของคุณที่จะสร้างความประทับใจแรกให้กับผู้รับ ในบางกรณีอาจเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของคุณในการติดต่อกับผู้มีโอกาสเป็นลูกค้า หรืออาจพูดได้ว่า ROI ของแคมเปญทั้งหมดของคุณขึ้นอยู่กับคำที่คุณใช้ในหัวเรื่องอีเมล
ดังนั้นก่อนส่งอีเมลออกไป คุณควรตรวจสอบหัวเรื่องอีเมลและถามตัวเองว่าหากคุณเป็นผู้รับอีเมล คุณจะเปิด จะเพิกเฉยหรือลบอีเมลนี้ทิ้งไป ถ้าหากคุณเลือกที่จะไม่เปิดดูอีเมล กลุ่มเป้าหมายของคุณก็จะไม่เปิดดูเช่นกันเนื่องด้วยเหตุผลเดียวกันกับคุณ จริงไหม?
เป็นอย่างไรบ้างกับบทความนี้ ถ้าอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Copywriting อยากรู้ว่าจะเป็น Copywriter ได้อย่างไร คลิกลิงก์นี้ได้เลย